รูปแบบ และวัสดุที่ใช้ในการทำรั้ว
ถือได้ว่า มีให้เลือกมากมายไม่มีข้อกำหนดตายตัว โดยเจ้าของบ้านอาจจะเน้นความโดดเด่นของบ้าน บ้างบ้านอาจทำเพียงรั้วพุ่มไม้ หรือรั้วไม้เตี้ยๆ ซึ่งบางคนอาจเน้นความสวยงามของตัวรั้ว ขณะเดียวกันมีการประดับด้วยโลหะอัลลอยด์ หรือหินอ่อน ในขณะที่บางคนอาจจะ เน้นความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งมีการทำรั้วสูง พร้อมเสริมเหล็กปลายแหลมด้านบน ถึงอย่างไรหากเจ้าบ้านต้องการสร้างรั้ว อาจมุ่งเน้นในความสวยงาม แต่ที่สำคัญควรดูความมั่นคงแข็งแรง และความสามารถในการป้องกันคุ้มภัยควบคู่กันไป โดยดูองค์ประกอบของ สภาวะแวดล้อมรอบด้วย
ปัจจุบันที่ถือเป็นรั้วที่ให้ความมั่นคงแข็งแรงให้แก่รั้วคอนกรีต รั้วประเภทนี้จะมีการลงเสาเข็ม หล่อฐานตอม่อ มีคานคอดิน เสารั้ว และทับหลังที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนตัวกำแพงรั้วอาจจะทำด้วยคอนกรีตบล็อก อิฐมอญหรือหินประเภทอื่นก็ได้ แล้วแต่ความต้องการ โดย รั้วประเภทนี้จะพบเห็นได้ทั่วไป บางแห่งอาจมี การดัดแปลงรูปแบบ ให้แตกต่างออกไปบ้าง เช่น เสริมด้วย ไม้ โลหะหรือช่องแสงบางส่วน แต่โครงสร้างของฐานราก จะมีลักษณะเดียวกันหมด จะมีความแตกต่างกันบ้างก็ในด้านของรายละเอียด เช่น รั้วที่สูง และมีขนาดใหญ่อาจใช้เสาเข็มที่ยาวขึ้น ใช้จำนวนเสาเข็มให้มาก ขึ้น ใช้เหล็กเส้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือรั้วที่สร้างอยู่บนดินที่อ่อนหรืออยู่ติดชายน้ำจะต้องมีการเสริมความ แข็งแรงของฐานราก เพื่อป้องกันมิให้รั้วทรุดตัวหรือเอียงในภายหลัง ทุกอย่างนั้นควรเป็นหน้าที่ของวิศวกรผู้ออกแบบ ที่จะต้องกำหนดให้เหมาะสม
วิธีการติดตั้งเข้ากับรั้วบ้านเดิม
รั้วบ้านส่วนต่อเติมควรติดตั้งโดยยึดเข้ากับโครงสร้างรั้วบ้านเดิมที่เป็นส่วนของคอนกรีตเสริมเหล็ก .(ค.ส.ล.) ได้แก่ คานคอดิน เสารั้วบ้าน หรือคานทับหลังรั้วบ้าน เพราะเป็นจุดที่เจาะยึด หรือฝังเหล็กเสียบเหล็กได้ดี โดยถ่ายน้ำหนักสู่ระบบฐานรากหรือโครงสร้างใต้ดินโดยตรง
ส่วนวิธีการยึดนั้น จะยึดโครงรั้วบ้านใหม่เข้ากับด้านบนของคานทับหลังรั้วบ้านเดิม (ภาพซ้าย) หรือเลือกยึดด้านข้างโดยใช้สกรูยึดเพลทเหล็กเข้ากับโครงสร้าง แล้วเชื่อมโครงสร้างรั้วบ้านใหม่เข้ากับเพลทเหล็ก อีกวิธีหนึ่งคือฝังเหล็กหนวดกุ้งเข้ากับเนื้อคอนกรีตด้วยกาวซีเมนต์หรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้เสียบเหล็ก จากนั้นนำมาเชื่อมกับโครงสร้างรั้วบ้านต่อเติม วิธีหลังนี้ต้องอาศัยความแม่นยำในการต่อเชื่อมสูง จึงมักไม่เป็นที่นิยมนัก
รั้วบ้านโปร่ง/รั้วบ้านทึบ
เจ้าของบ้านหลายคนอยากให้รั้วบ้านโปร่ง สามารถมองทะลุและระบายอากาศได้ เพื่อลดความอึดอัด โดยเฉพาะบ้านที่มีระยะร่นอาคารน้อย ระยะห่างระหว่างตัวบ้านกับรั้วค่อนข้างกระชั้น หรือกรณีที่มีความสูงของบ้านมากๆ หากทำรั้วบ้านทึบตันจะยิ่งอึดอัด ทั้งนี้การทำรั้วบ้านโปร่งอาจออกแบบเป็นจังหวะโปร่ง-ทึบ สลับกันไป ตามตำแหน่งระยะและมุมมองที่เหมาะสมในเรื่องความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ตาม การต่อเติมรั้วบ้านให้สูงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวด้านสายตาเท่านั้น ส่วนเรื่องการป้องกันเสียงรบกวนยังช่วยได้ไม่มาก
ต่อเติมรั้วบ้านสูงเท่าไหร่ดี
ความสูงของรั้วบ้านจะต้องไม่ขัดกับกฎหมาย โดยจะสูงจากระดับถนนหรือทางเท้าได้ไม่เกิน 3.00 เมตร และควรคำนึงถึงความระดับความสูงของอาคารข้างเคียงรวมถึงช่องเปิดด้วย ทั้งนี้ระดับรั้วบ้านยิ่งสูงจะยิ่งมีพื้นที่ปะทะแรงลมมากขึ้นจึงควรคำนึงเรื่องจุดยึดที่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอ
สภาพรั้วบ้านเดิม
นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เจ้าของบ้านควรพิจารณา เนื่องจากโครงสร้างของรั้วบ้านทั่วไปมักจะรับน้ำหนักด้วยเสาเข็มแบบสั้น หากเป็นไปได้ควรนำแบบรั้วบ้านมาขอรับคำปรึกษาจากวิศวกรโครงสร้างจะดีที่สุด เพื่อช่วยประเมินว่าโครงสร้างรั้วบ้านยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ โดยรั้วบ้านจะที่ต่อเติมไม่ควรเกิดการทรุดตัวมาก คานทับหลังไม่แอ่นตกท้องช้าง ไม่มีการปริแตกของเสารั้วบ้าน วัสดุผนังที่ก่อไว้ไม่แตกทะลุหรือมีรอยแยกใหญ่ผิดปกติ รั้วบ้านที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ หากฝืนต่อเติมไปอาจยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น
น้ำหนักของวัสดุที่ใช้ต่อเติมรั้วบ้าน
หลีกเลี่ยงวัสดุประเภทผนังก่อ เพราะการต่อเติมจะสร้างน้ำหนักให้กับโครงสร้างรั้วบ้านเดิมเพิ่มขึ้น ควรเลือกใช้วัสดุเบา ยกตัวอย่างเช่น ไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งมีทั้งแบบแผ่นบอร์ด และแผ่นยาวที่ออกแบบหน้ากว้างมาสำหรับทำรั้วบ้านโดยเฉพาะ บางรุ่นมีสีและพื้นผิวเลียนแบบไม้ให้เลือกใช้ด้วย โดยติดตั้งกับโครงสร้างเบา ตามระยะโครงคราวที่ผู้ผลิตกำหนด (ส่วนใหญ่มักมีระยะประมาณ 30-60 ซม.ขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาของวัสดุ)