แบบรั้วบ้านน่ามอง
ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านพักอาศัย มีบทบาทสำคัญที่ถือ เป็นทางทางเข้า-ออกของบ้านพัก และพื้นที่บริเวณบ้าน ทั้งยังทำหน้าที่ในป้องกันอาณาเขตของบ้าน โดยมีจุดประสงค์ และความเหมาะสมของการนำไปใช้ของเจ้าของบ้าน มักจะประกอบไปด้วยหลายปัจจัยในการเลือกใช้ โดยปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงคือ เรื่องความคงทนแข็งแรง และยังมีเรื่องความสวยงาม ของตัวรั้วบ้าน
ซึ่งรั้วบ้านแต่ละหลังมีแบบรั้วบ้านแตกต่างกันไปตามรสนิยม และงบประมาณของเจ้าของบ้าน โดยก่อนที่จะตัดสินใจเลือกการออกแบบรั้วบ้านนั้น เราควรพิจารณาจาก ลักษณะบ้าน ,พื้นที่รอบบ้านระยะห่างจากตัวบ้าน สี รูปแบบ วัสดุและส่วนประกอบ ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นหลัก เพื่อให้รั้วบ้านออกมามีประสิทธิภาพ และทำให้บ้านดูสวยงามไปพร้อมๆกัน
แบบรั้วบ้านในปัจจุบัน
รั้วไม้
- รูปแบบรั้วบ้านที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ ด้วยวิธีการที่ไม่ยาก คุณอาจจะเลือกหาไม้เก่าที่ค่อนข้างแข็งแรง มาต่อเชื่อมด้วยตะปูเป็นแผง ก่อนจะตกแต่งทาสีหรือเลื่อยเป็นรูปทรงได้ตามต้องการ ข้อสำคัญของรั้งชนิดนี้คือ การเสริมฐานให้แน่น อาจจะใช้การขุดดินให้ลึกเพียงพอ หรือเสริมด้วยคอนกรีตสำเร็จเพื่อไม่ให้รั้วล้มไปตามแดดลมฝน
รั้วปูนสี
- ถ้าชอบรั้วแนวโบราณดูเก่า ๆ ให้ลองใช้เทคนิคงานฉาบปูนขาวผสมผงสีที่ต้องการลงไป เทคนิคนี้ไม่ทำให้เกิดปัญหาสีหลุดล่อน นิยมฉาบให้พื้นผิวไม่เรียบดูเข้ากับสวนป่าและธรรมชาติรอบ ๆ นอกจากนี้ยังสามารถตกแต่งด้วยเทคนิคการปั้นปูนให้เป็นลวดลายคิ้วบัวหรือซุ้มต่าง ๆ ให้ดูแปลกตาได้ด้วย
รั้วกิ่งไม้ไผ่
- รั้วแบบนี้มาจากบ้านญี่ปุ่นที่นิยมมัดกิ่งไม้แห้งเป็นมัด ๆ แล้วยึดเป็นแนวรั้วด้วยไม้ไผ่ รั้วจากวัสดุธรรมชาตินี้เหมาะกับบ้านในสวนให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าหากรู้สึกไม่ปลอดภัยจะก่อผนังปูนหรือรั้วเหล็กซ่อนอยู่ภายในอีกชั้นก็ช่วยได้
รั้วพุ่มไม้
- ตกแต่งอาณาเขตรอบบ้านด้วยไม้พุ่มทรงเตี้ย เพิ่มสีเขียวให้เกิดความสบายตา ทั้งยังสามารถใช้เป็นที่เพาะปลูกไม้เลื้อยพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ได้อย่างดี แต่การบำรุงรักษาที่ค่อนข้างยาก ความปลอดภัยที่น้อยที่สุดในบรรดาทั้งหมด อาจทำให้มันดูไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ ควรเสริมด้วยโครงเหล็กเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ
รั้วบังสายตา
- หากรั้วบ้านเดิมเตี้ยจนปิดสายตาจากเพื่อนบ้านไม่ได้ แนะนำให้ทำแผงอะลูมิเนียมแบบมีรูเล็ก ๆ ให้ดูโปร่งตาและมีน้ำหนักเบา สามารถยึดกับโครงสร้างเหล็กของกำแพงบ้านได้ ไอเดียนี้ช่วยบังสายตาจากภายนอกได้ดี ทั้งยังดูสวยงามด้วย
รั้วไม้กึ่งทึบกึ่งโปร่ง
- ไอเดียนี้เหมาะกับบ้านที่มีรั้วชิดตัวบ้าน จึงต้องการมุมมองที่ดูโปร่งขึ้น เพื่อช่วยลดความอึดอัดของพื้นที่ ด้วยการทำรั้วโครงเหล็กเว้นช่องขนาด 80 x 160 เซนติเมตร แล้วยึดระแนงไม้ขนาด 1 นิ้ว เข้ากับโครงเหล็กด้วยนอต โดยเว้นช่องให้ห่างกันทุก ๆ 2 นิ้ว ให้เกิดมุมมองแบบกึ่งทึบกึ่งโปร่ง วิธีนี้สามารถถอดเปลี่ยนชิ้นไม้ออกมาซ่อมแซมได้ง่าย แต่สำหรับด้านที่มีรั้วติดเพื่อนบ้านหรือถนนควรตีระแนงให้มิดชิดเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว
รั้วตาราง
- เลือกตกแต่งริมรั้วปูนด้วยการทำโครงเหล็กเป็นช่อง ๆ ไว้ใส่วัสดุตกแต่งลงในช่องนั้น ๆ อาจติดตั้งแบบถาวรหรือปรับเปลี่ยนแก้เบื่อได้ อย่างไอเดียนี้ใช้การจัดเรียงหินปูนซ้อนกันและโบกปูนจนเต็มช่อง สลับกับการกรุหญ้าเทียมหรือจะปลูกสวนแนวตั้งลงไปแทนก็ดูสวยเป็นธรรมชาติดี
รั้วกระถางต้นไม้
- ถ้าบ้านหลังไหนมีเนื้อที่แคบแต่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บ้าน แนะนำให้ทำสวนกระถางบนรั้วเสียเลย ด้วยการนำห่วงเหล็กดัดกลมสำหรับสวมกระถางมายึดเข้ากับผนัง จะติดให้เท่ากันหรือจัดองค์ประกอบให้ดูแปลกตาก็ได้ตามใจชอบ
รั้วอิฐเก่า
- กำแพงก่ออิฐโชว์แนวก็ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แถมยังสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสไตล์บ้านได้หลากหลาย อย่างการทำซุ้มโค้งแบบช่องหน้าต่างโบสถ์แบบไทย ใช้วางเชิงเทียนตกแต่งสวนเวลากลางคืน หรือจะทำซุ้มหน้าต่างหลอกติดบานไม้เก่าสไตล์คันทรี่ก็ดูน่าสนใจไปอีกแบบ หรือนำมอสส์มาคลุมไว้กับกำแพงอิฐแล้วรดน้ำให้ผนังชื้นก็ได้บรรยากาศรั้วแบบบาหลีได้ไม่ยาก
รั้วมีรู
- รั้วบ้านไม่จำเป็นต้องทึบตันเสมอไป ลองเพิ่มลูกเล่นด้วยการเจาะทะลุลวดลายเป็นชื่อบ้านหรือเลขที่บ้านก็ดูเก๋ดี ทั้งยังใช้มองดูแขกที่มาเยี่ยมเยือนได้อีกด้วย ไอเดียนี้ทำได้ไม่ยากแค่ใส่บล็อกเหล็กที่ดัดเป็นลวดลายหรือตัวอักษรลงไปในขั้นตอนการก่อรั้วอิฐฉาบปูน เพื่อฝากโครงสร้างไว้กับรั้วให้รับน้ำหนักอยู่ได้ด้วยตัวเอง
รั้วตีนตุ๊กแก
- หากกำแพงปูนดูเรียบและแข็งกระด้าง เรามีไอเดียเพิ่มความสดชื่นง่าย ๆ มาฝาก ด้วยการใช้สีเขียวจากต้นตีนตุ๊กแกให้เลื้อยปกคลุมทั่วทั้งกำแพง เริ่มจากก่อกระบะดินสำหรับปลูกต้นตีนตุ๊กแกให้ยาวตลอดแนวกำแพง เพื่อให้ต้นตีนตุ๊กแกเลื้อยขึ้นที่สูง หรือจะปลูกพรรณไม้ชนิดอื่นอย่างพลูด่างหรือเดฟให้ห้อยลงมาคลุมกำแพงแทนก็ได้ เพียงย้ายกระบะดินให้อยู่บนแนวกำแพงด้านบนแทน
รั้วสูงโปร่ง
- เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่น้อยหรือมีรั้วชิดกับบ้าน แนะนำให้ทำรั้วให้ดูสูงโปร่ง สูงคลุมตัวบ้านเพื่อกั้นมุมมองจากภายนอกทั้งชั้นบนและชั้นล่าง โดยตีโครงเหล็กเว้นระยะห่างเท่า ๆ กัน ให้ความรู้สึกกึ่งทึบกึ่งโปร่ง ช่วยลดความอึดอัดลงได้