บ้านประหยัดพลังงาน ประเทศไทยถือเป็นชนชาติหนึ่งที่ออกแบบบ้านประหยัดพลังงานได้ มาแต่ครั้งโบราณกาล เป็นเพราะประเทศไทยเรา อยู่ในภูมิประเทศเขตร้อนชื้น มีแม่น้ำ และเต็มไปด้วยเรือกสวน ไร่นา รวมทั้งการสร้างที่อยู่อาศัย นิยมการใช้ไม้ในการสร้างบ้าน มีชานเรือนกว้างขวาง บ้านแต่ละหลังนิยมทำหน้าต่างบานใหญ่ รอบตัวบ้าน เปิดรับลมได้เต็มที่
ทั้งนี้บ้านประหยัดพลังงานเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นพลังงานที่ไม่สามารถทดแทนกันได้อยางคุ้มค่า โดยที่ยังตอบสนองความต้องการ และค่านิยมของยุคปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์ โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดในการประยุกต์ใช้สภาพแวดล้อม
ประโยชน์ของการออกแบบ บ้านประหยัดพลังงาน
- สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้อยู่ในเขตสบายตามความต้องการ ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย
การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน อาศัยเทคนิคการออกแบบ ให้อากาศภายในบ้านเย็นสบาย น่าอยู่ โดยใช้ต้นไม้รอบบ้าน เป็นตัวปรับอุณหภูมิ ของอากาศในบ้านให้เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศเป็นหลัก โดยอาศัยโครงการสร้างดังนี้
- ด้านนอกของบ้าน ทางด้านทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ ควรจะโปร่ง โล่ง ไม่มีอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างใหญ่บังทิศทางลม ทางที่ดี ควรออกแบบเป็นสนามหญ้า ปลูกไม้ยืนต้นให้ร่มครึ้ม เพื่อให้ลมพัดไอเย็นจากต้นไม้เข้าสู่ตัวบ้าน
- ผนังบ้าน ควรสร้างจากวัสดุป้องกันความร้อน เช่น ผนังสำเร็จรูป ที่ติดตั้งฉนวนกันความร้อน
- หากว่าใช้กระจกแทนผนังทึบ ตัวกระจกก็ควรจะต้องได้รับการป้องกัน ไม่ให้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน จึงควรติดตั้งกระจกทางทิศเหนือ หรือมีชายคาและกันสาด ยาวพอที่จะกันแสงแดดตกกระทบได้
- หลังคา ควรจะมีรูปทรงที่เอื้อ ให้อากาศพัดเข้ามาที่ช่องใต้หลังคา ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อไล่อากาศร้อนใต้หลังคาออกไป และบุฉนวนกันความร้อน ให้เพดานห้องชั้นบน
- พื้นบ้าน ควรเป็นวัสดุ ที่สามารถนำความเย็นจากดินด้านล่างขึ้นมาได้ดี เช่น ควรใช้กระเบื้องปูพื้น เพราะจะมีคุณสมบัติทำให้ห้องเย็นสบาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
การสร้างบ้านของบ้านประหยัดพลังงาน
รั้วบ้านควรเป็นแบบโล่งโปร่ง
วัสดุและแบบของรั้วบ้านนั้นสำคัญ ทางที่ดีควรเป็นแบบโปร่งเพื่อปล่อยให้ลมสามารถถ่ายเทได้ และไม่ควรทำจากวัสดุเก็บความร้อนเช่นอิฐมอญหรือคอนกรีตเสริมเหล็ก
อย่าสร้างลานคอนกรีตในบ้าน
อย่าสร้างลานคอนกรีตในทิศทางที่แดดส่อง เพราะคอนกรีตเป็นวัสดุเก็บความร้อนในตอนกลางวัน และจะถ่ายเทความร้อนสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืน หากเป็นไปได้ควรใช้วัสดุอื่นแทนคอนกรีด
สร้างบ้านให้ถูกทิศ
ในประเทศเรานั้น ทิศตะวันตกและทิศใต้มีอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเป็นเวลา8-9เดือนต่อปี เพราะมุมของแสงแดดที่ส่องนั้นเป็นมุมต่ำที่เข้าสู่อาคารได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการสร้างบ้านที่หันไปทางสองทิศดังกล่าว และควรนำทิศทางลมมาประกอบการตัดสินใจของคุณด้วย หากจำเป็นต้องสร้างบ้านที่หันไปทางทิศทางรับแดดจริงๆก็ควรสร้างกันสาดเพื่อบังแดดด้วย
ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน
ต้นไม้ใบหญ้านั้นสามารถช่วยสร้างร่มเงา บังแดดที่จะส่องมากระทบตัวบ้าน และยังช่วยลดความร้อนอีกด้วย แต่ทว่าในการปลูกต้นไม้ใหญ่ คุณควรเว้นระยะจากตัวบ้านสักเล็กน้อยเพราะว่ารากไม้นั้นสามารถสร้างความเสียหายกับโครงสร้างบ้านได้
ปูแผ่นพลาสติกในพื้นชั้นล่าง
ในส่วนของชั้นล่างหรือ Ground floor คุณควรปูแผ่นพลาสติกในส่วนของโครงสร้างพื้นเพื่อลดความชื้นที่สามารถระเหยขึ้นมาจากพื้นดินและลดภาระของเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ค่าไฟลดลงตามไป
ประตูหน้าต่างควรมีทางลม
คุณควรวางทิศทางของประตูและหน้าต่างไว้ในทิศที่ระบายลมได้ดี และอย่าลืมติดตั้งมุ้งลวดเพื่อกรองฝุ่นผงที่สามารถปลิวเข้ามาในบ้านด้วย กระทั่งเฟอร์นิเจอร์คุณก็ควรวางโดยดูทิศทางของกระแสลมให้อย่าขวางทางลม อีกทั้งชนิดของประตูและหน้าต่างก็มีความสำคัญ เช่นว่าหน้าต่างบานเปิดสามารถรับกระแสลมได้ดีที่สุดแต่ต้องจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือตำแหน่งที่รับลมได้ดี
ใส่ฉนวนกันความร้อนและช่องระบายอากาศที่หลังคาเสมอ
ฉนวนกันความร้อนจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน คุณควรติดตั้งฉนวนในทุกห้องที่มีเครื่องปรับอากาศและบนหลังคา การมีช่องระบายอากาศจะช่วยระบายความร้อนซึ่งถูกกักเก็บไว้บริเวณใต้หลังคา แต่ก็ต้องติดตั้งตาข่ายเอาไว้กันพวกสัตว์เล็กต่างๆเข้าไปทำรังในนั้นด้วย
แยกครัวออกจากตัวบ้าน
การทำอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทยจะทำให้เกิดความร้อนในบ้าน ทั้งจากเตาไฟ เตาแก๊ส และเตาอบ หากสามารถกำหนดได้ก็ควรสร้างห้องครัวให้แยกจากตัวบ้านเพื่อลดอุณหภูมิ